18 สิงหาคม 2554

ภูมิประเทศของทวีปเอเชีย

ภูมิประเทศของทวีปเอเชีย
ทวีปเอเชียเป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีพื้นที่ประมาณ 44 ล้านตารางกิโลเมตรเป็นทวีปที่มีพื้นที่กว้างที่สุดของโลก ตั้งอยู่ทางซีกตะวันออกของโลก ดินแดนเกือบทั้งหมดอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ยกเว้นบางส่วนของหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย ทวีปเอเชียมีขนาดกว้างใหญ่มาก ทำให้ตอนกลางของทวีปห่างจากมหาสมุทรมาก เป็นเหตุให้อิทธิพลของพื้นน้ำไม่สามารถแผ่เข้าไปได้ไกลถึงภายในทวีป ประกอบกับตอนกลางของทวีปมีเทือกเขาสูงขวางกั้นกำบังลมทะเลที่จะพัดเข้าสู่ ภายในทวีป ทำให้บริเวณตั้งแต่ตะวันตกเฉียงใต้จนถึงตอนกลางของทวีปมีพื้นที่แห้งแล้ง เป็นบริเวณกว้าง 
 
ลักษณะภูมิประเทศของทวีปเอเชีย แบ่งออกได้ดังนี้
เขตเทือกเขาสูงตอนกลางทวีป เป็นเทือกเขาเกิดใหม่ เกิดจากการโก่งตัวของเปลือกโลก มีความสูงมาก มีหลายเทือกเขา ซึ่งจุดรวมเรียกว่า ปามีร์นอต (Pamir Knot) หมายถึง หลังคาโลก (The Roof of the World) ได้แก่ เทือกเขาหิมาลัย มียอดเอเวอร์เรสต์ สูงที่สุดในโลก 8,848 เมตร และทอดตัวออกไปหลายทิศทาง ตอนเหนือของเทือกเขาหิมาลัย เช่น เทือกเขาคุนลุน ทางตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เทือกเขาเทียนซาน เทือกเขาอัลไต ทางตะวันตก เช่น เทือกเขาฮินดูกูซ ส่วนทางใต้ เช่น เทือกเขาสุไลมาน
เขตที่ราบสูง บริเวณตอนกลางทวีปมีที่ราบสูงอยู่ระหว่างเทือกเขา เช่น ที่ราบสูงยูนนานและที่ราบสูงทิเบตในประเทศจีนเป็นที่ราบสูงมีขนาดใหญ่และสูง ที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีเขตที่ราบสูงตอนใต้ เช่น ที่ราบสูงเดคคาน ในประเทศอินเดีย และเขตที่ราบสูงตะวันตกเฉียงใต้ เช่น ที่ราบสูงอิหร่านในประเทศอิหร่านและอัฟกานิสถาน ที่ราบสูงอาหรับ ในประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่ราบสูงอนาโตเลีย ในประเทศตุรกี
เขตที่ราบต่ำตอนเหนือ เป็นที่ราบดินตะกอนที่เกิดจากแม่น้ำอ๊อบ เยนิเซ และลีนา ไหลผ่าน เรียกว่า ที่ราบไซบีเรีย มีอาณาเขตกว้างขวาง แต่มีคนอาศัยอยู่น้อยเพราะอยู่ในเขตภูมิอากาศหนาวมาก ทำการเพาะปลูกไม่ได้ ในฤดูหนาวน้ำในแม่น้ำจะเป็นน้ำแข็ง
เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ เป็นที่ราบต่ำเกิดจากตะกอน มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก นับเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่ยิ่งใหญ่ของทวีปเอเชีย เช่น ในเอเชียตะวันออก มีแม่น้ำฮวงโห แม่น้ำแยงซีเกียง (จีน) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแม่น้ำแดง (เวียดนาม) แม่น้ำเจ้าพระยา (ไทย) แม่น้ำอิระวดี (พม่า) แม่น้ำโขง (คาบสมุทรอินโดจีน) ในเอเชียใต้ มีแม่น้ำสินธุ แม่น้ำคงคา แม่น้ำพรหมบุตร (อินเดีย) ในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ มีแม่น้ำไทกรีส - ยูเฟรตีส (อิรัก)
เขตหมู่เกาะรูปโค้ง หรือเขตหมู่เกาะภูเขาไฟ เป็นแนวต่อมาจากปลายตะวันออกสุดของเทือกเขาหิมาลัยที่โค้งลงมาทางใต้ เป็นแนวเทือกเขาอาระกันโยมาในพม่าแล้วหายลงไปในทะเล บางส่วนโผล่ขึ้นมาเป็นหมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ หมู่เกาะอินโดนีเซีย หมู่เกาะฟิลิปปินส์ จนถึงหมู่เกาะญี่ปุ่น เป็นแนวภูเขารุ่นใหม่ จึงเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟ


ที่มา:  http://www.baanjomyut.com/library/global_community/01_2_1.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น